ถอดบทเรียนเด็กหาย ตั้งต้นพ่อแม่หนีจากบ้าน
นับวันยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น “ปัญหาเด็กหาย” สาเหตุจากความรุนแรงภายในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญผลักให้ “เด็กหนีออกจากบ้าน” อันมีความต้องการอยากใช้ชีวิตอย่างแบบอิสระลำพัง
แต่โลกภายนอกบ้าน “ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” ถ้าเป็นเด็กผู้ชายหนีออกจากบ้านมักกลายเป็นคนเร่ร่อนขอเงินนอนกินตามท้องถนน แต่หากเป็นเด็กผู้หญิงจะไปค้างบ้านเพื่อนสนิทต่างเพศผลคือ “มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร” นำมาสู่การเกิดปัญหาท้องไม่พร้อม ทำแท้งเถื่อน หรือนำเด็กแรกเกิดไปทิ้ง
ตัวอย่างล่าสุด “เด็กชายอายุ 8 เดือนใน จ.นครปฐม หายออกจากบ้านตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกันค้นหานานกว่า 20 วัน “แต่ไม่พบร่องรอย” ก่อนแม่เด็กสารภาพทำลูกชายตกพื้นเสียชีวิตนำศพไปทิ้งแม่น้ำท่าจีนห่างบ้าน 200 เมตร พนักงานสอบสวนแจ้ง 3 ข้อหาคุมตัวฝากขังศาลเยาวชน
เรื่องนี้มองผิวเผินอาจเป็นแค่เหตุร้ายในครอบครัว แต่หากมองให้ลึกถึงต้นเหตุจะเห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากพ่อแม่มาก่อน ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ความกดดัน ภาวะซึมเศร้าจากการเลี้ยงดูเด็กเล็กลำพัง ขาดทักษะชีวิตความพร้อมการดูแลเด็กเล็ก นำมาซึ่งการตัดสินใจก่อเหตุด้วยความรุนแรง หรือการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม
ปัญหาเด็กหายนั้น เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หน.ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูลว่า ในปี 2565 ตัวเลขการรับแจ้งเด็กหายอยู่ที่ 252 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปีโดยมีสถิติสูงกว่าปี 2564 ถึงร้อยละ 25 จังหวัดเด็กหายออกจากบ้านสูงสุดคือ กรุงเทพฯ 70 ราย นนทบุรี สมุทรปราการ 17 ราย ปทุมธานี 16 ราย
เมื่อประเมินสาเหตุพบจาก “การคลายล็อกดาวน์โควิด–19” ทำให้เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ปกติ ทั้งประกอบกับช่วงการระบาดโควิด-19 พ่อแม่หลายคนเผชิญสภาวะทางเศรษฐกิจ “จนมีเวลาดูแลลูกลดลง” เพราะมัวแต่สนใจกับรายได้อันนำมาซึ่ง “เด็กนัดพบปะเพื่อนเกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน” ผลคือเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน
ถ้ามองลึกถึงสาเหตุ “เด็กสมัครใจหนีออกจากบ้านนั้น” ปรากฏเห็นปัญหาภายในครอบครัวตั้งแต่ครอบครัวแตกแยก เด็กถูกทิ้งให้ผู้สูงอายุดูแล ครอบครัวใช้ความรุนแรงด้านคำพูด กดดันบังคับเด็ก ใช้การเปรียบเทียบ กลายเป็นปัจจัยผลักให้เด็กอยากออกมาขวนขวายหาความรักและความอบอุ่นนอกบ้านแทน
ส่วนใหญ่เป็นช่วง “วัยรุ่นหัวเลี้ยวหัวต่ออายุ 13–15 ปี” ที่เป็นช่วงวัยมีสังคมเพื่อน หรือเป็นวัยมีแรงขับทางเพศตามธรรมชาติสูง “อยากลองอยากรู้” ทั้งยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยง่าย
เมื่อเด็กมีปัญหา “จึงหันไปให้ความไว้วางใจกับเพื่อน หรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์มากกว่าคนในครอบครัว” ก่อนถูกชักชวนให้ไปอยู่กับแฟน หรือคนที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกหนีออกจากบ้านไปหาคนที่ไว้ใจนั้น ทำให้เสี่ยงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน หรือป้องกันไม่ถูกวิธีตามมา
ทว่า เด็กวัยนี้กลับมีวาทกรรมว่า “มีลูกได้ก็เลี้ยงได้เช่นกัน” แต่ในความจริงแล้ว “เด็กไม่สามารถเลี้ยงลูกลำพังได้” ถ้าชี้ให้เห็นชัดๆอย่าง “กรณีเด็ก 8 เดือนหายใน จ.นครปฐม” โดยพ่อแม่ของเด็กเป็นเยาวชนเคยมีพื้นฐานหนีออกจากบ้านมาก่อน เมื่อตั้งครรภ์ก็ไม่มีครอบครัว หรือผู้ใหญ่ให้คำปรึกษาอย่างถูกวิธี
ท้ายที่สุดเด็กก็ปรึกษากันเองกลายเป็นเลี้ยงดูลูกไม่เหมาะสม “นำมาซึ่งโศกนาฏกรรม” เพราะการเลี้ยงลูกได้นั้น “ควรมีความพร้อมทักษะชีวิตและพื้นฐานเศรษฐกิจ” มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในครอบครัว
ต้องยอมรับว่า “การเลิกร้างหักลากันในสังคมไทย” ส่วนใหญ่ล้วนมีปัญหาทางเศรษฐกิจในครัวเรือนแทบทั้งสิ้น “ฉะนั้นเด็กหนีออกจากบ้าน และมีครอบครัวก่อนวัยอันควร” จึงไม่มีความพร้อมเลยสักเรื่องเดียว แถมไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในด้านต่างๆได้อีกด้วย
ประเด็นถอดบทเรียน “เด็กหายบางเลน” ตามประสบการณ์ช่วงเกิดเหตุแรกๆ “คนในครอบครัว” มักไม่ยอมรับสารภาพจนกว่าจะพบศพเด็กอยู่แล้ว เรื่องนี้ตำรวจต้องทำหน้าที่สืบเสาะหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ต้นตอรากเหง้ามองว่า “เยาวชนมีลูกก่อนวัย และต้องเลี้ยงลูกเอง” ย่อมมีแนวโน้มสูงต้องเผชิญปัญหาลำพัง
ผลตามมาคือ “ขาดที่พึ่ง และขาดที่ปรึกษา” กลายเป็นจัดการปัญหาแบบเด็กไม่มีวุฒิภาวะตัดสินใจจากความรู้สึกว่า “ลูกไม่หายใจกลัวความผิด” จึงนำไปทิ้งแล้วอ้างว่าเด็กหายถูกลักพาตัวไป
ข่าวเกี่ยวกับเด็กเพิ่มเติม>>>>“เด็ก” ก็เครียดเป็น ภัยเงียบที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ